แนะ 8 วิธี เตรียมบ้าน-คอนโดฯ หากมีคนต้องกักตัว วอนผู้ดูแลอาคารร่วมมือ สธ.

ข่าวสุขภาพ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมบ้านและคอนโดมิเนียม สำหรับแยกกักเป็น Home Isolation ว่า กรณีจำเป็นต้องแยกกักตัวที่บ้านหรือที่คอนโดนิเนียม มีคำแนะนำสำหรับครอบครัวเพื่อเตรียมความพร้อม ดังนี้ 1.แยกส่วนหรือพื้นที่เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร 2.หากมีพื้นที่จำกัดให้จัดทำฉากกั้นระหว่าง ผู้ต้องถูกแยกกักตัวและคนอื่นๆ ในครอบครัว 3.จัดห้องพักให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดเข้าถึง 4.แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จานชาม เป็นต้น

5.การทำความสะอาดเสื้อผ้า ใช้ผงซักฟอกตามปกติ หากมีเครื่องซักผ้าให้ซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า ในน้ำอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 25 นาที และผึ่งแดดให้แห้ง 6.การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมกรณีที่ไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้แยกกักตัวให้ใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์

7.เตรียมถังขยะส่วนตัว ที่มีฝาปิดมิดชิด และของใช้ส่วนตัวโดยเฉพาะ ทั้งในบริเวณที่นอนและห้องน้ำ และ 8.ถ้ามีห้องนอนห้องเดียว แต่ต้องนอนร่วมกับคนในบ้าน ต้องเปิดประตูหน้าต่างให้โล่งโปร่งที่สุด หรือใช้ฉากผ้าม่านกั้นระหว่างกัน พยายามอยู่ห่างจากคนในครอบครัวให้มากที่สุด และวัดไข้ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้ น้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าปกติอยู่ที่ 96-100 เปอร์เซ็นต์ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ที่พักอาศัยและผู้ดูแลที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อในบ้าน คอนโดฯ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัว แยกกันกินอาหารและไม่ดื่มน้ำร่วมกัน เก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจานผึ่งแดดให้แห้ง จัดของใช้สำหรับผู้ต้องแยกกัก เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์การกินอาหาร อุปกรณ์ทำความสะอาด แยกจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้แยกกัก โดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ แยกตะกร้าและแยกซัก

การใช้เครื่องซักผ้ารวมกันได้ โดยซักผ้าของผู้แยกกักตัวเป็นคนสุดท้าย และหลังซักให้ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ปั่นหลังซักเสร็จ เพื่อทำความสะอาดถังเครื่องซักผ้าซักอีกครั้ง ทำสะอาดบ้านสม่ำเสมอทุกวันด้วยน้ำยาถูพื้นหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับเช็ดพื้นผิว และน้ำยาอเนกประสงค์บริเวณจุดสัมผัสต่างๆ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการกินอาหาร ต้องเน้นปรุงสุก กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน พักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด และขยะจากผู้ป่วยทุกชิ้นถือเป็นขยะติดเชื้อ ควรกำจัดให้ถูกวิธี คือ รวบรวมขยะทั้งหมดใส่ในถุง 2 ชั้น ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ สารฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ แล้วปิดปากถุงให้สนิท และฉีดสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงก่อนทิ้งที่ถังขยะติดเชื้อ

ด้านเจ้าของหรือนิติบุคคลคอนโดมิเนียมหรือแฟลต ขอให้เพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อแจ้งเตือนพนักงาน ผู้พักอาศัย และผู้มาเยี่ยม เช่น โปสเตอร์การเว้นระยะห่าง การล้างมือและการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตัวให้กับผู้อยู่อาศัย มีการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางเป็นประจำทุกวัน และเพิ่มความถี่ในจุดเสี่ยงโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ลูกบิดประตู ตู้จดหมาย ป้ายประชาสัมพันธ์ โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ฟิตเนส เครื่องเล่นเด็ก รวมทั้งอาจจัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์เจล 70 เปอร์เซ็นต์ บริเวณจุดเข้า-ออก ต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ นิติบุคคลคอนโดมิเนียมหรือแฟลต ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

อ้างอิง
https://www.khaosod.co.th/covid-19