Virtual Bank พลิกโฉมการเงิน เปิดทางแข่งขันเพิ่ม

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

นักการเงินมอง ธนาคารนฤมิตร (Virtual Bank)มาแน่ ชี้เรื่องใหญ่ Knowledge Gap สำหรับยุคที่จะเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีแบบมาเร็ว เปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจเยอะ ผู้ใช้บริการตามไม่ทัน ที่สำคัญควรจำกัดปริมาณไลเซนต์ ปิดสะสมความเสี่ยงจากการแข่งขัน

ประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังด้านการใช้งานธุรกรรมดิจิทัล สะท้อนจากการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ที่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือการโอนเงินผ่าน e-payment สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก อีกทั้งพัฒนาพร้อมเพย์ให้เป็น Real Time payment อันดับแรกๆ ของอาเซียน และอันดับ 1 ของโลกด้านการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลหรือ Wholesale CBDC

Virtual Bank พลิกโฉมการเงิน เปิดทางแข่งขันเพิ่ม

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกแนวทางของภูมิทัศน์การเงินใหม่ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณะภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ใน 3 เรื่องใหญ่คือ 1.เปิดกว้างในการแข่งขัน 2. เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการกลุ่มต่างๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมและ 3.เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล

ประเด็นสำคัญคือ เปิดให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล หรือ Virtual Bank ให้มีขอบเขตการประกอบธุรกิจเหมือนธนาคารแบบดั้งเดิม (traditional bank) สามารถนำเสนอบริการทางการเงิน และแข่งขันกับผู้ให้บริการอื่นได้อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศที่อนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ Digital full Bank ในสิงคโปร์

 

ควรให้ใบอนุญาตที่เหมาะสม
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการที่ ธปท. จะดำเนินการให้จัดตั้ง Virtual Bank ในไทย ซึ่งในหลายประเทศทำมา โดยที่่ประสบความสำเร็จมากคือ WeBank ในจีนใช้ระบบดิจิทัลบริการลูกค้า ไม่มีสาขา/สำนักงาน โดยมีพนักงานเพียง 2,000 คน แต่ดูแลลูกค้าผู้ฝากเงินถึง 200 ล้านราย และลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้บริการเงินกู้ราว 2 ล้านคน

หัวใจของการทำ Virtual Bank เป็นบริการให้ประชาชน โดยลดต้นทุนสาขา งานหลังบ้าน พนักงาน สามารถใช้เทคโนโลยีทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ส่งผลให้ธนาคารสามารถให้บริการผู้มีรายได้น้อย หรือลงลึกสามารถให้บริการอย่างวงกว้างเป็นเทคนิคที่เกิดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

 

อีกทั้งทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงบริการที่ดี รวมทั้งความสามารถในการใช้ข้อมูลประมวลประเมินลูกค้า สะท้อนโมเดลที่สามารถให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในวงกว้าง

 

“การจัดตั้ง Virtual Bank ในแง่โครงสร้างผู้ถือหุ้น ธปท.สามารถใช้หลักการเดิมที่เน้นกลุ่มการเงินเป็นสำคัญ เพื่อเน้นเรื่องการเงิน ไม่มีคำถามว่า เงินที่ได้มานำไปทำอะไรได้บ้าง เรื่องนี้บางประเทศจะเปิดให้คนในประเทศและต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นได้”

 

ส่วนทุนจดทะเบียนอย่างน้อยควรเท่ากับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เพราะต้องให้บริการอย่างกว้างขวางต้องมีทุนพอสมควร การทำธุรกิจธนาคารหัวใจสำคัญคือ ความเชื่อมั่นของธนาคารเองคือ มีเงินทุนพอสมควร แม้จะไม่ลงทุนเรื่องตึก/สาขา แต่เพื่อทำให้ผู้ฝากสบายใจ ถ้าปล่อยสิเชื่อเกิดเสียหาย ก็มีความเชื่อมั่นจะได้เงินฝากคืน

 

ในแง่ของกำกับนั้น ธปท.กำกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่งอยู่แล้ว ตั้งแต่โมบายแบงกิ้ง แม้จะมีบางส่วนเป็นอนาล็อค แต่แบงก์พาณิชย์ย้ายไปทำดิจิทัลแบงก์แล้ว เพียงแต่จะเปิดให้มีการแข่งขันกว้างขวางและดีขึ้น และมีใบอนุญาต (License) ถ้าเยอะเกินไปจะเกิดการแข่งขันผู้เล่นไปทำธุรกรรมเสี่ยงขึ้น เห็นได้จากบริษัทเงินทุน (บง.) ที่สะสมความเสี่ยง ฉะนั้นควรจะมีการให้ใบอนุญาตในจำนวนที่เหมาะสมด้วย

 

ห่วงแชร์ข้อมูลวงกว้าง
ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคง เทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคธนาคาร (TB-CERT) กล่าวว่า ธปท.พยายามกำหนดกรอบแนวนโยบาย ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในมุมของ TB-CERT เดิมมีสมาชิกกลุ่มสถาบันการเงินหรือธนาคาร หากอนาคตจะมีกลุ่มนอนแบงก์เข้ามาทำธุรกิจ อาจจะมีการแชร์ข้อมูล ก็ต้องดูว่าจะขยายวงอย่างไร

 

ปัจจุบันการแชร์ข้อมูลทำร่วมกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เพราะ พ.ร.บ. ไซเบอร์จะต้องขยายเครือข่ายออกไป ซึ่งการแชร์ข้อมูลในวงใหญ่ ก็มีความกังวลเรื่องการควบคุมที่อาจจะคุมยาก แนวโน้มต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม เพราะ Virtual Bank จะเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ NFT,P2P อาจจะใกล้ตัว

 

ส่วนคลาวฟันด์ดิ้ง (Crowd funding) ต่อไป ก็จะเข้ามาทำใน Virtual Bank มากขึ้น หรือ Decentralized Financial (DeFi) ซึ่งแบงก์ยังไม่คุ้นเคยว่า DeFi จะเป็นรูปแบบไหน แต่ละธนาคารเร่งศึกษาอยู่ ขณะที่ธนาคารจะคุ้นเคยเฉพาะ Centralized Financial

 

“Virtual Bank จะทำเรื่อง DeFI, NFT, P2P, Crowd funding มากขึ้น ซึ่งธุรกิจครึ่งหนึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบและมาแข่งกับบริการเดิมที่แบงก์มี แต่ในแง่ของความปลอดภัย การนำเทคโนโลยี การนำรูปแบบธุรกิจมาใช้จะทำให้เกิดช่องว่างความรู้ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ (Knowledge Gap) ซึ่งส่วนนี้อาจจะเป็นช่องให้แฮกเกอร์ใช้หลอกลวง”

 

ขณะที่ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้น โดยจะเห็นได้ ช่วงหลังมีการแฮกวอลเลต แม้เครือข่ายบลอคเชนไม่มีปัญหาในตัวเอง แต่แฮกวอลเลตมากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะผู้ใช้บริการไม่คุ้นว่า จะดูแลอย่างไร ดังนั้น Knowledge Gap จะเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับยุคที่จะเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีแบบมาเร็ว เปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจเยอะ ผู้ใช้บริการตามไม่ทัน”

 

จำเป็นต้องเกิดจะช้าหรือเร็ว
ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองให้ความเห็นว่า Virtual Bank ในไทยจำเป็นต้องเกิด ขึ้นกับว่าจะช้าหรือเร็ว เพราะเวลานี้เริ่มเห็นการทำธุรกรรมกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่น โดยผู้เป็นเจ้าของเงินกับลูกค้าไม่ต้องเห็นหน้าหรือผ่านสถาบันการเงินแบบเดิม

ส่วนใหญ่เป็น Virtual เรื่องดิจิทัล เอไอ ทั้ง DeFi ลดการสัมผัสคนต่อคนจะลดน้อยลง เห็นได้ระยะหลังธนาคารปฎิรูปลดจำนวนคน ให้ลูกค้าบริการตัวเองในแง่บริการ ต่อไปไม่ต้องมีสัมผัสคือ Virtual bank

 

สิ่ง ธปท. ทำเป็นกระแสหลักที่เกิดขึ้นและมีความจำเป็นสอดคล้องโลกเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนต่ำ หรือประสิทธิผลด้านความรวดเร็ว สอดคล้องกับการบริการคนต่อคน (Customize) การแข่งขันทางการเงินจะนำไปสู่ลดต้นทุน และเชื่อมโยงทุกจุดทั่วโลกและปูทางไปแข่งขันนอกจากธนาคารด้วยกัน นำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่

 

“P2P วันนี้ลูกค้ากับเจ้าของเงินไม่ต้องผ่านแบงก์ Virtual Bank จะมาควบคู่กับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศหลายประเทศกำลังดำเนินอยู่ ซึ่ง ธปท. ก็เริ่มแล้วจากการทำโครงการอินทนนท์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารทุกแห่งต้องปรับตัวขนาดใหญ่” ดร.สมชายกล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market